About Us 2019-07-21T12:04:07+07:00

ความเป็นมา.

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันแห่งแรกที่เป็นแหล่งค้นคว้าเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านคอมพิวเตอร์มาเป็นเวลานานหลายสิบปี นับแต่คอมพิวเตอร์เครื่องแรกได้เข้ามาในประเทศไทย คือ IBM 1620 ซึ่งได้รับการติดตั้งที่อาคารบัณฑิต กันตะบุตร (ชื่อเดิม คือ ศูนย์คำนวณสถิติ) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506 เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์แก่นิสิต และยังได้เปิดอบรมพิเศษทางคอมพิวเตอร์แก่บุคคลภายนอกผู้สนใจทั่วไปอย่างสม่ำเสมอตราบจนปัจจุบัน

จากนั้นในยุคที่ไมโครคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย คณะฯ ได้นำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการให้บริการทางวิชาการกับเงินทุนคณะอีกส่วนหนึ่งจัดซื้อไมโครคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งเพื่อให้บัณฑิตที่จบจากคณะฯ มีความรู้ความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้ติดตั้งระบบมินิคอมพิวเตอร์ DEC (Digital Equipment Corporation) รุ่น MicroVAX 3600 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนที่ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น

การบริหารงานในด้านการบริการคอมพิวเตอร์อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยเครื่องอีเลคโทรนิค ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ในปี พ.ศ. 2530 และได้เปลี่ยนมาเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศในปี พ.ศ. 2551

วัตถุประสงค์.

เพื่องานการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมถึงงานวิจัยและการให้บริการต่าง ๆ ภายในคณะฯ
เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์สำหรับอาจารย์และนิสิต
เพื่อประสานงานกับสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลของคณะฯ

คณะได้จัดทำระบบเครือข่ายขึ้น โดยเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เนื่องจากความต้องการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตามหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเพิ่มมากขึ้น คณะฯ จึงได้มีโครงการจัดสร้างระบบเครือข่ายสื่อสาร ข้อมูลภายในคณะขึ้นเพื่อให้สามารถใช้เครือข่ายและข้อมูลร่วมกันได้ทั้งภายในและภายนอกคณะ รวมทั้งเป็นรากฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศภายในคณะต่อไป โดยระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศูนย์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นคณะที่มีอาคารสำหรับดำเนินงานเป็นจำนวนมาก อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง 3 ชั้นโดยมีอาคาร 8 ชั้นเพียงอาคารเดียว การใช้งานอาคารมีลักษณะปะปนกันไประหว่างห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ สำนักงานและห้องทำงานของอาจารย์ ความต้องการใช้งานร่วมกันในระบบคอมพิวเตอร์ค่อนข้างสูง จึงได้ทำการติดตั้งระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลสำหรับคณะมากขึ้น

ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในคณะเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ในคณะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและข้อมูลที่กระจายอยู่ภายในคณะฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ยังสามารถใช้ข้อมูลจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย

พัฒนาการของระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลของคณะฯ.

ระหว่างปี พ.ศ. 2535 สำรวจความเป็นไปได้และการจัดการระบบเครือข่ายฯ
มกราคม พ.ศ. 2536 ออกแบบและติดตั้งระบบเครือข่ายฯ โดยใช้สายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เชื่อมโยงเครือข่ายของอาคารต่าง ๆ และแต่ละอาคารจะมีเครือข่ายย่อยของอาคารเอง ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล 10 Mbps รวมทั้งมีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านทางเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUNET)
พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ปรับปรุงระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถ รองรับความต้องการในการใช้งานที่สูงขึ้น โดยเพิ่มความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเป็น 100 Mbps
ปลายปี พ.ศ. 2545 เดินสายใยแก้วนำแสงภายในอาคารทั้งคณะฯ และเปลี่ยนสายสัญญาณเดิมที่เก่าและเสื่อมสภาพ เพื่อให้สามารถรองรับความเร็ว 100 Mbps ทั้งคณะฯ
มกราคม พ.ศ. 2546 ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ภายในคณะฯ เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูล ที่ 1,000 Mbps สำหรับการส่งผ่านข้อมูลของระบบ Backbone และ 100 Mbps ระหว่างคอมพิวเตอร์กับระบบเครือข่าย และมีการปรับปรุงระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการใช้งาน Wireless LAN สำหรับบุคลากรและนิสิต เพื่อให้ทันกับความต้องการของปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2548 มีการปรับปรุงอุปกรณ์เครือข่ายใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปี พ.ศ. 2554-2555 มีการเปลี่ยนอุปกรณ์และขยายอุปกรณ์เพื่อรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save